• 27.07.2022 |
  • 7,444

ปลากระเบนราหูยักษ์

ลักษณะเด่น
          ปากอยู่ด้านหน้า จะงอยปากมีแผ่นหนังขนาดใหญ่ที่งอเข้าหากัน ทำหน้าที่ในการช่วยดักแพลงก์ตอนให้เข้าสู่ปากได้ง่ายขึ้น มีแถบฟันที่กลางขากรรไกรล่าง จำนวน 18 แถว พื้นที่ใกล้ส่วนหลังหัวจะมีแถบสีขาวสองแถบตัดกับพื้นหลังสีดำเข้ม ทำให้ดูคล้ายกับรูปตัวที (“T”) ลำตัวส่วนท้ายมีครีบหลังขนาดเล็ก และหางคล้ายแส้ แต่สั้น และไม่มีเงี่ยง
 
ขนาด
          สามารถโตได้ถึง 9 เมตร ตามความกว้างของลำตัว และมีน้ำหนักได้ถึง 3,000 กิโลกรัม แต่ขนาดที่พบโดยทั่วไปมีขนาดประมาณ 2 - 5 เมตร
 
ถิ่นอาศัยและการแพร่กระจายในประเทศไทย
          มีแหล่งอาศัยหากินตั้งแต่บริเวณใกล้ผิวน้ำถึงใกล้พื้นท้องทะเลตามแนวปะการังน้ำลึก จนถึงมหาสมุทรที่ระดับความลึกมากกว่า 1,000 เมตร โดยมักว่ายเข้ามาบริเวณใกล้กองหิน (Cleaning station) เพื่อทำความสะอาดร่างกาย ให้ปลาพยาบาลกำจัดปรสิตตามตัว มีการอพยพระยะไกลระหว่างมหาสมุทร  ในน่านน้ำไทยพบทั้งฝั่งอ่าวและฝั่งทะเลอันดามัน แต่พบบริเวณทะเลอันดามันมากกว่า
 
ชีววิทยา
          ปลากระเบนราหูยักษ์ เป็นปลากระเบน(น้ำเค็ม)ที่ใหญ่ที่สุดในโลก กรองกินแพลงก์ตอนสัตว์เป็นหลัก แต่บางครั้งก็กินสัตว์ขนาดเล็กที่ลอยอยู่ในน้ำ มีพฤติกรรมชอบกระโดดขึ้นเหนือน้ำ ส่วนใหญ่เกิดในช่วงผสมพันธุ์ ออกลูกเป็นตัวครั้งละ 1 ตัว แบบ Ovoviviparous ซึ่งเป็นการผสมภายในตัว แต่ไข่ที่ได้รับการผสมจะไม่ได้รับอาหารจากแม่ แต่อาศัยอาหารจากไข่แดงภายในตัวไข่ จนกระทั่งฟักออกมาเป็นตัว จึงออกจากท้องแม่ 
 
สถานภาพ
          พ.ศ. 2557 ปลากระเบนราหูยักษ์ถูกจัดอยู่ในบัญชีแนบท้ายหมายเลข 2 (Appendix II) ของอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์และพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (CITES) เมื่อวันที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2557
          พ.ศ. 2560 สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจัดสถานภาพให้เป็นสัตว์ที่มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ (Vulnerable Species)
          พ.ศ. 2561 ปลากระเบนราหูยักษ์ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 โดยได้รับการประกาศเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองของประเทศไทย เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2561
          พ.ศ. 2563 IUCN Red List กำหนดสถานภาพให้เป็นสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์ (Endangered Species, EN) เนื่องจากมีข้อมูลบ่งชี้ถึงจำนวนประชากรที่ลดลงร้อยละ 50 - 79 ในระยะเวลาประมาณ 87 ปี หรือกว่า 3 รุ่นอายุ
 
เอกสารอ้างอิง
          ทัศพล กระจ่างดารา, 2560; ปลากระดูกอ่อน (ปลาฉลาม ปลากระเบน และปลาหนู) ที่พบในน่านน้ำไทยและน่านน้ำใกล้เคียง, www.fishbase.org, สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง; รายงานสำรวจสถานภาพสัตว์ทะเลหายากที่ได้รับการประกาศเป็นสัตว์สงวนและคุ้มครอง ฉบับสมบูรณ์ (Final Report) เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2564, www.wikipedia.org
ข้อมูลชนิดที่เกี่ยวข้อง / Other Species Information
ปลากระเบนราหูแนวปะการัง
ปลากระเบนราหูแนวปะการัง
Alfred manta
Mobula alfredi (Krefft, 1868)
ปลากระเบนปีศาจครีบสั้น
ปลากระเบนปีศาจครีบสั้น
Shortfin devil ray
Mobula kuhlii (Müller & Henle, 1841)
ปลากระเบนปีศาจหางหนาม
ปลากระเบนปีศาจหางหนาม
Devil fish
Mobula mobular (Bonnaterre, 1788)
ปลากระเบนปีศาจครีบโค้ง
ปลากระเบนปีศาจครีบโค้ง
Smoothtail mobula
Mobula thurstoni (Lloyd, 1908)
ปลากระเบนปีศาจหางเคียว
ปลากระเบนปีศาจหางเคียว
Chilean devil ray
Mobula tarapacana (Philippi, 1892)