ปลากระเบนปีศาจหางเคียว
ลักษณะเด่น
ส่วนหัวแคบและยาว ตำแหน่งปากอยู่ค่อนมาด้านล่าง มีแถบฟันทั้งที่ขากรรไกรบนและล่าง หางสั้นและไม่มีเงี่ยง ลำตัวด้านบนมีสีน้ำเงินเข้ม ด้านท้องมีสีขาว ขอบท้ายครีบหลังตัดเป็นแนวตรง
ขนาด
สูงสุด 370 เซนติเมตร ตามความกว้างของลำตัว ขนาดทั่วไปที่พบ 200 – 300 เซนติเมตร
ถิ่นอาศัยและการแพร่กระจายในประเทศไทย
อาศัยบริเวณใกล้ผิวน้ำถึงใกล้พื้นท้องทะเลตามแนวปะการัง จนถึงในมหาสมุทรที่ระดับความลึกไม่เกิน 100 เมตร ในเขตน่านน้ำไทยพบทั้งฝั่งอ่าวไทยและฝั่งทะเลอันดามัน
ชีววิทยา
ออกลูกเป็นตัว ครั้งละ 1 – 2 ตัว แบบ Ovoviviparous ซึ่งเป็นการผสมภายในตัว แต่ไข่ที่ได้รับการผสมจะไม่ได้รับอาหารจากแม่ แต่อาศัยอาหารจากไข่แดงภายในตัวไข่ จนกระทั่งฟักออกมาเป็นตัว จึงออกจากท้องแม่ ส่วนใหญ่กินปลาขนาดเล็ก และแพลงก์ตอนสัตว์ พวกกุ้งขนาดเล็กเป็นอาหาร และไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์
สถานภาพ
พ.ศ. 2562 IUCN Red List กำหนดสถานภาพให้ปลากระเบนปีศาจหางเคียวเป็นสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์ (Endangered Species, EN)
พ.ศ. 2560 สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจัดสถานภาพ ยังไม่ได้รับการจัดสถานภาพชนิดพันธุ์ที่ถูกคุกคามของประเทศไทย
พ.ศ. 2561 ปลากระเบนปีศาจหางเคียว ยังไม่ได้รับได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 โดยอยู่ระหว่างกระบวนการเสนอกฎหมายลำดับรอง ตามกฎหมายพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. ...
เอกสารอ้างอิง
ทัศพล กระจ่างดารา, 2560; ปลากระดูกอ่อน (ปลาฉลาม ปลากระเบน และปลาหนู) ที่พบในน่านน้ำไทยและน่านน้ำใกล้เคียง, www.fishbase.org, สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง; รายงานสำรวจสถานภาพสัตว์ทะเลหายากที่ได้รับการประกาศเป็นสัตว์สงวนและคุ้มครอง ฉบับสมบูรณ์ (Final Report) เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2564, www.wikipedia.org