ปลาโรนิน
ลักษณะเด่น
ปลายจะงอยปากโค้งมน มีแถวหนามขนาดเล็กบริเวณเหนือฐานครีบอกขึ้นมาอีกด้านละ 2 แถวสั้นๆ ปากโค้งมีริมฝีปากโค้งเป็นลอนคลื่น มีฟันเล็กกลมรูปไข่ ลำตัวเรียวยาวค่อนข้างแบนลง ครีบหลังอันแรกมีจุดเริ่มต้นหน้าครีบท้อง ครีบหางโค้งเว้าเป็นรูปพระจันทร์เสี้ยว ลำตัวสีน้ำตาลเทา มีจุดสีขาวกระจายทั่วทั้งตัว และมีจุดดำรูปหยดน้ำอยู่เหนือครีบอก ด้านท้องมีสีขาว ในปลาขนาดเล็กมีแถบเส้นสีดำพาดขวางบนส่วนหัวสี่เส้นและจะค่อยๆ จางหายไปเมื่อโตขึ้น มีหนามขนาดใหญ่รูปสามเหลี่ยมเป็นแถวด้านบนส่วนหัวบริเวณเหนือตาและแนวกลางส่วนหัว เรียกว่า “หัว/หนามปลากระเบน” เป็นที่นิยมในการนำไปทำเครื่องประดับ เช่น หัวแหวน และกำไลข้อมือ โดยมีความเชื่อว่า หนามบนหลังนี้ใช้เป็นเครื่องรางของขลังในทางไสยศาสตร์ได้ ซึ่งเป็นความเชื่อที่ผิด และหลังจากวันที่ 30 พฤศจิกายน 2561 ผู้ที่ครอบครองผลิตภัณฑ์ที่ทำจากซากปลาโรนิน จะถูกปรับ 40,000 บาท หากไม่มีหนังสือการครอบครอง ซากสัตว์ป่าคุ้มครองตามประกาศกรมประมง ลงวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2558
ขนาด
โตได้ความยาวสูงสุด 300 เซนติเมตร แต่ขนาดทั่วไปที่พบ คือยาว 80-270 เซนติเมตร น้ำหนักที่เคยบันทึกได้ 135 กิโลกรัม
ถิ่นอาศัยและการแพร่กระจายในประเทศไทย
อาศัยบริเวณพื้นท้องทะเลที่เป็นโคลนหรือทรายตามชายฝั่งทะเลและแนวปะการัง จนถึงบริเวณไหล่ทวีปที่ระดับความลึกน้ำ 90 เมตร ในเขตน่านน้ำไทยพบทั้งฝั่งอ่าวไทยและทะเลอันดามัน
ชีววิทยา
ออกลูกเป็นตัว ครั้งละ 1 – 2 ตัว แบบ Ovoviviparous ซึ่งเป็นการผสมภายในตัว แต่ไข่ที่ได้รับการผสมจะไม่ได้รับอาหารจากแม่ แต่อาศัยอาหารจากไข่แดงภายในตัวไข่ จนกระทั่งฟักออกมาเป็นตัว จึงออกจากท้องแม่ กินปลา หมึก หอย และกุ้งเป็นอาหาร
สถานภาพ
พ.ศ. 2562 IUCN Red List กำหนดสถานภาพให้ปลาโรนินเป็นสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง (Critically Endangered Species, CR) มีแนวโน้มประชากรลดลง
พ.ศ. 2560 สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจัดสถานภาพปลาโรนิน เป็นสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์ (Endangered Species)
พ.ศ. 2561 ปลาโรนิน ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า
พ.ศ. 2562 โดยได้รับการประกาศเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองของประเทศไทย เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2561
เอกสารอ้างอิง
ทัศพล กระจ่างดารา, 2560; ปลากระดูกอ่อน (ปลาฉลาม ปลากระเบน และปลาหนู) ที่พบในน่านน้ำไทยและน่านน้ำใกล้เคียง, www.fishbase.org, สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง; รายงานสำรวจสถานภาพสัตว์ทะเลหายากที่ได้รับการประกาศเป็นสัตว์สงวนและคุ้มครอง ฉบับสมบูรณ์ (Final Report) เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2564, www.wikipedia.org