ลักษณะเด่น
จะงอยปากเรียวยาวเป็นแผ่นแคบ มีซี่ฟันถึงโคนจะงอยปาก ลักษณะแบนยาวคล้ายหมุดหรือตะปู จำนวน 23 – 37 คู่ (ส่วนใหญ่พบ 24-31 คู่) ไม่มีร่องด้านใต้โคนจะงอยปาก รูจมูกสั้นเป็นช่องกว้าง ฐานครีบอกกว้าง ครีบหลังอันแรกอยู่หลังจุดเริ่มต้นครีบท้อง มีสันคมที่ด้านข้างคอดหาง และไม่มีแพนหางตอนล่าง ลำตัวสีเขียวออกน้ำตาล หรือสีเขียวมะกอก และด้านท้องมีสีขาว
ขนาด
โตเต็มที่ ขนาด 730 เซนติเมตร
ถิ่นอาศัยและการแพร่กระจายในประเทศไทย
พบบริเวณพื้นแหล่งน้ำที่เป็นโคลนหรือทรายตามปากแม่น้ำ และชายฝั่งทะเลจนถึงระดับความลึกน้ำ 100 เมตร อาจพบเข้ามาอาศัยในแม่น้ำ ในเขตน่านน้ำไทยพบทั้งฝั่งอ่าวไทยและทะเลอันดามัน
ชีววิทยา
ออกลูกเป็นตัวแบบ Ovoviviparous ครั้งละประมาณ 12 ตัว โดยตัวอ่อนได้รับอาหารจากถุงไข่แดง จนกระทั่งฟักออกจากไข่ และออกมาจากท้องแม่ ปลาจะเริ่มเข้าสู่ระยะผสมพันธุ์เมื่ออายุ 9 ปี ส่วนใหญ่กินปลาขนาดเล็ก กุ้ง หอย และปูเป็นอาหาร
สถานภาพ
พ.ศ. 2550 กลุ่มปลาฉนากถูกจัดอยู่ในบัญชีแนบท้ายหมายเลข 1 (Appendix I) ของอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์และพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (CITES)
พ.ศ. 2556 IUCN Red List กำหนดสถานภาพให้ปลาฉนากเขียว เป็นสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง (Critically Endangered Species, CR)
พ.ศ. 2560 สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้จัดสถานภาพปลาฉนากเขียวเป็นสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง (Critically Endangered Species)
พ.ศ. 2561 ปลาฉนากเขียว ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า
พ.ศ. 2562 โดยได้รับการประกาศเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองของประเทศไทย เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2561
ปลาฉนากเขียว อาจสูญพันธุ์ไปจากน่านน้ำไทยแล้ว มักถูกจับจากเครื่องมืออวนลาก และอวนติดตา แต่ไม่มีรายงานการถูกจับจากเรือประมงไทย
เอกสารอ้างอิง
ทัศพล กระจ่างดารา, 2560; ปลากระดูกอ่อน (ปลาฉลาม ปลากระเบน และปลาหนู) ที่พบในน่านน้ำไทยและน่านน้ำใกล้เคียง, www.fishbase.org, สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง; รายงานสำรวจสถานภาพสัตว์ทะเลหายากที่ได้รับการประกาศเป็นสัตว์สงวนและคุ้มครอง ฉบับสมบูรณ์ (Final Report) เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2564, www.wikipedia.org