ลักษณะเด่น
มีหัวโต ตาเล็ก มีหนวดที่จมูก 1 คู่ ยาวถึงปาก ปากอยู่ด้านล่างของส่วนหัว เป็นแนวเส้นตรง มีร่องเชื่อมต่อระหว่างปากและจมูก ริมฝีปากล่างเป็นรูปสี่เหลี่ยม และมีร่องที่มุมปาก ปลายจะงอยปากทู่ โค้งมน โครงสร้างฟันที่ไม่ได้เป็นฟันเขี้ยวขนาดใหญ่แต่มีขนาดเล็กและเรียงชิดกันเหมาะสำหรับการกินสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังที่มีโครงสร้างเปลือกแข็งเป็นอาหาร ปลาฉลามเสือดาวมีสันนูนตามยาวลำตัว 5 แถว ลำตัวเป็นหนังหนามีเกล็ดเป็นตุ่มแข็ง มีสีน้ำตาลหรือเหลืองอ่อน มีจุดสีดำ หรือ น้ำตาลเข้มกระจายตั้งแต่หลังตาไปถึงปลายหาง ลักษณะการกระจายตัวของจุดเหล่านี้สามารถนำมาใช้ในการระบุตัวตนได้ (Individual identification) ด้านท้องมีสีขาว มีช่องเหงือกสั้น ครีบอกขนาดใหญ่ ครีบหลัง 2 อันอยู่ใกล้กัน ครีบหางใหญ่ยาวมาก เท่ากับหรือมากกว่า 50% ของความยาวตลอดตัว
ขนาด
ลูกปลาฉลามเสือดาวมีความยาว 20-36 เซนติเมตร เมื่อโตเต็มวัย ตัวผู้มีความยาว 147 - 183 เซนติเมตร ตัวเมีย 169 - 171 เซนติเมตร เคยพบปลาฉลามเสือดาวความยาวสูงสุด 235 เซนติเมตร
ถิ่นอาศัยและการแพร่กระจายในประเทศไทย
ปลาฉลามเสือดาวพบแพร่กระจายอยู่ในทะเลเขตร้อน บริเวณพื้นทรายในแนวปะการัง มักพบอยู่รวมกัน 20 - 50 ตัว ในประเทศไทยสามารถพบปลาฉลามเสือดาวได้ทั้งฝั่งอ่าวไทยและทะเลอันดามัน
ชีววิทยา
ปลาฉลามเสือดาวเป็นปลาขนาดกลาง ออกลูกเป็นไข่ (Oviparous species) และมีบันทึกว่าสามารถวางไข่มากถึง 46 ฟอง ได้ภายในระยะเวลา 112 วัน ไข่ขนาดใหญ่ มีลักษณะเป็นกระเปาะทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า ที่ปลายมีเส้นใยสำหรับยึดเกาะวัตถุใต้น้ำ
ปลาฉลามเสือดาว มักอยู่โดดเดี่ยว โดยในช่วงระหว่างวัน มักพบเห็นปลาฉลามเสือดาวนอนอยู่บนพื้นทะเล โดยหันหัวและอ้าปากในทิศที่มีกระแสน้ำพัดเข้ามา เพื่อช่วยในการหายใจ และหากินในเวลากลางคืน โดยอาหารเป็นหอย ปู ปลาขนาดเล็ก และบางครั้งพบว่ากินงูทะเลด้วย
สถานภาพ
พ.ศ. 2559 IUCN Red List กำหนดสถานภาพให้ปลาฉลามเสือดาวเป็นสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์ (Endangered Species, EN) มีแนวโน้มประชากรลดลง และข้อมูลบ่งชี้ถึงจำนวนประชากรที่ลดลงมากกว่า
ร้อยละ 50 ในระยะเวลา 50 ปีที่ผ่านมา
พ.ศ. 2560 สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจัดสถานภาพปลาฉลามเสือดาวเป็นสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์ (Endangered Species)
ปัจจุบันปลาฉลามเสือดาวอยู่ระหว่างการเสนอเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง เพื่อเข้าบรรจุตามกฎหมายลำดับรองประกอบพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 (มาตรา7)
เอกสารอ้างอิง
ทัศพล กระจ่างดารา, 2560; ปลากระดูกอ่อน (ปลาฉลาม ปลากระเบน และปลาหนู) ที่พบในน่านน้ำไทยและน่านน้ำใกล้เคียง, www.fishbase.org, สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง; รายงานสำรวจสถานภาพสัตว์ทะเลหายากที่ได้รับการประกาศเป็นสัตว์สงวนและคุ้มครอง ฉบับสมบูรณ์ (Final Report) เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2564, www.wikipedia.org