ปลาฉลามวาฬ
มารู้จักปลาฉลามวาฬ
ปลาฉลามวาฬ (Whale shark) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Rhincodon typus Smith, 1828 เป็นปลาที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก แต่มีนิสัยไม่ดุร้าย และไม่เป็นภัยอันตรายต่อมนุษย์ มักพบเห็นพฤติกรรมว่ายวนรอบเรือ และขึ้นมากินอาหารบริเวณผิวน้ำ โตเต็มที่อาจมีความยาวมากถึง 21 เมตร และหนักได้ถึง 42 ตัน แต่ขนาดที่พบโดยทั่วไป คือ 5-10 เมตร ส่วนอายุที่เคยบันทึกได้ประมาณ 80.4 ปี ปัจจุบันปลาฉลามวาฬได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 โดยได้รับการประกาศเป็นสัตว์ป่าสงวนของประเทศไทย เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2562
ลักษณะเด่น
หัวแบนและกว้าง ปากกว้างและอยู่ปลายสุดของจะงอยปาก ฟันมีขนาดเล็กมาก รูปร่างเหมือนกันซึ่งมีปลายแหลมงุ้มคล้ายตะขอ มีสันนูนตามแนวนอนข้างลำตัวหลายแถว ครีบอันแรกมีจุดเริ่มต้นอยู่หน้าจุดเริ่มต้นครีบท้อง คอดหางแบนลงมีสันแข็งทางด้านข้าง มีร่องที่ด้านบนคอดหาง ครีบหางเป็นรูปตัววีหรือพระจันทร์เสี้ยว ลำตัวมีสีน้ำตาลเข้มหรือดำ และด้านท้องสีขาว มีจุดสีขาวกระจายเป็นแนวเส้นพาดขวางทั่วตัว ซึ่งมีขนาดและระยะห่างระหว่างจุดไม่ซ้ำกันแต่ละตัว จึงทำให้สามารถนำมาจำแนกอัตลักษณ์ได้
ถิ่นอาศัยและการแพร่กระจาย
ปลาฉลามวาฬพบแพร่กระจายอยู่ทั่วโลก ในทะเลเขตร้อนถึงเขตอบอุ่นที่มีอุณหภูมิผิวน้ำทะเลตั้งแต่ 18-30 องศาเซลเซียส อย่างมหาสมุทรแอตแลนติก มหาสมุทรอินเดีย และมหาสมุทรแปซิฟิก ตั้งแต่อเมริกา เม็กซิโก บราซิล แอฟริกาใต้ อินเดีย ไทย มาเลเซีย สิงค์โปร์ อินโดนีเซีย เวียดนาม จีน ไต้หวัน ญี่ปุ่น ฟิลิปินส์ จนถึงออสเตรเลีย ส่วนในเขตน่านน้ำไทยพบทั้งฝั่งอ่าวไทยและทะเลอันดามัน พบอาศัยบริเวณกลางน้ำถึงผิวน้ำในทะเลเปิด บางครั้งอาจหลงเข้าตามชายฝั่งที่มีน้ำตื้น เป็นปลาที่มีการอพยพเป็นระยะทางไกลระหว่างมหาสมุทร ไกลสุดถึง 13,000 กิโลเมตร ใช้ระยะเวลามากกว่า 36 เดือน
อาหารของปลาฉลามวาฬ
ปลาฉลามวาฬอ้าปากกว้างกรองกินผ่านซี่กรองของเหงือก อาหารของปลาฉลามวาฬ ได้แก่ แพลงก์ตอนสัตว์ หรือสิ่งมีชีวิตขนาดเล็ก เช่น ปลาผิวน้ำขนาดเล็ก กุ้งขนาดเล็ก และ ตัวอ่อนของสัตว์น้ำ
การสืบพันธุ์และการดำรงชีวิต
ปลาฉลามวาฬ ออกลูกเป็นตัว ซึ่งเป็นการผสมภายในตัว ไข่ที่ได้รับการผสมจะไม่ได้รับอาหารจากแม่ แต่อาศัยอาหารจากไข่แดงภายในตัวไข่ จนกระทั่งฟักออกมาเป็นตัว จึงออกจากท้องแม่ ซึ่งในการออกลูกแต่ละครั้งอาจมากกว่าครั้งละ 300 ตัว
สถานภาพการคุ้มครอง และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
พ.ศ. 2543 ปลาฉลามวาฬได้รับการคุ้มครองตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง ห้ามทำการประมงปลาฉลามวาฬ ลงวันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2543
พ.ศ. 2546 ปลาฉลามวาฬถูกจัดอยู่ในบัญชีแนบท้ายหมายเลข 2 (Appendix II) ของอนุสัญญาว่าด้วย การค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์และพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (CITES)
พ.ศ. 2559 ปลาฉลามวาฬได้รับการคุ้มครองตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดชนิดสัตว์น้ำที่เลี้ยงลูกด้วยนม สัตว์น้ำที่หายากหรือใกล้สูญพันธุ์ ที่ห้ามจับหรือนำขึ้นเรือประมง ลงวันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2559
พ.ศ. 2559 IUCN Red List กำหนดสถานภาพให้เป็นสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์ (Endangered Species, EN) เนื่องจากมีข้อมูลบ่งชี้ถึงจำนวนประชากรที่ลดลงมากกว่าร้อยละ 50 ในระยะเวลาประมาณ 75 ปี
พ.ศ. 2562 ปลาฉลามวาฬได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 โดยได้รับการประกาศเป็นสัตว์ป่าสงวนของประเทศไทย เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2562
พ.ศ. 2563 สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจัดสถานภาพให้เป็นสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์ (Endangered Species, EN)
เอกสารอ้างอิง
ทัศพล กระจ่างดารา, 2560. ปลากระดูกอ่อน (ปลาฉลาม ปลากระเบน และปลาหนู) ที่พบในน่านน้ำไทยและน่านน้ำใกล้เคียง. กองวิจัยและพัฒนาประมงทะเล, กรมประมง, กระทรวงเกษตรและสหกรณ์. 331 หน้า.
สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง. สัตว์ทะเลหายากและใกล้สูญพันธุ์กลุ่มปลากระดูกอ่อนบางชนิดที่ได้รับการประกาศเป็นสัตว์ป่าสงวนและสัตว์ป่าคุ้มครอง ในรอบ 6 ปี 2559-2564. กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรุงเทพฯ. บริษัท เอ.พี. พริ้นติ้ง มีเดีย จำกัด. 118 หน้า.
https://www.wikipedia.org
https://www.fishbase.se/summary/2081
https://www.iucnredlist.org/
https://www.sharkbook.ai/photographing.jsp